หน้าแรกรายงาน/ผลการดำเนินงานผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่

โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่

ความเป็นมาของโครงการ

         การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เดิมชื่อ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีอาคารสำนักงานและอาคารกลุ่มงานทางด้านต่างๆ รวมทั้งอาคารโรงงาน ตั้งอยู่เลขที่ 184 ถนนพระรามที่ 4  แขวง/เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร  บนพื้นที่ดินประมาณ 600 ไร่ ใจกลางเขตเมืองหลวง โดยในปี 2534  นายกรัฐมนตรี (นายอานันท์  ปันยารชุน) ได้มีดำริให้โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ย้ายออกจากกรุงเทพมหานคร และพัฒนาพื้นที่ของโรงงานยาสูบให้เป็นส่วนสาธารณะสำหรับการพักผ่อน เป็นสวนสุขภาพและการออกกำลังการของประชาชน  เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการรักษาสภาพแวดล้อม และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งการให้โรงงานยาสูบดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  ฉะนั้นการย้ายโรงงานผลิตยาสูบไปสู่ส่วนภูมิภาค จึงเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดมลภาวะทางอากาศในเมืองหลวง และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตลาดการค้าเสรีบุหรี่  โดยการจะนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่เครื่องจักรและอุปกรณ์เดิม เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต  และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจประเภทนี้

วัตถุประสงค์ของโครงการ

         ยสท.จำเป็นจะต้องย้ายโรงงานผลิตยาสูบจากกรุงเทพมหานครไปยังที่ดินแห่งใหม่ที่จัดซื้อเตรียมไว้แล้ว จำนวน 2 แปลง คือ แปลงที่ดินก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ขนาดประมาณ 220 ไร่ ณ บริเวณสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา พระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแปลงที่ดินก่อสร้างที่พักอาศัยของพนักงาน ขนาดประมาณ 22 ไร่ ณ บริเวณโซนพื้นที่พานิชกรรมของสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา พระนครศรีอยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการดังนี้

  •    ก่อสร้างอาคารโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ที่ทันสมัย มาตรฐานสากล
  •    ดำเนินการภายใต้กฎระเบียบ ขั้นตอน และกฎหมาย
  •    ดำเนินการภายใต้งบประมาณ ระยะเวลา และคุณภาพ
  •    ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและผลิตบุหรี่ได้เพียงพอต่อความต้องการตลาด
  •    จัดการเครื่องจักรเดิมที่ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  •    ส่งมอบคืนพื้นที่โรงงานผลิตยาสูบเดิมให้แก่กรมธนารักษ์ได้
  •    บริหารกิจการที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยของโรงงานผลิตยาสูบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

1. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 เห็นชอบในหลักการให้ย้ายโรงงานยาสูบฯ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตทั้งหมดไปอยู่ในส่วนภูมิภาค และให้พัฒนาพื้นที่ของโรงงานยาสูบฯ เป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ และออกกำลังกาย โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้โรงงานยาสูบจัดทำแผนแม่บทการย้ายและพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 

2. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 อนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยสท. จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ภายใต้เงื่อนไขให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจในปัจจุบัน และสร้างในพื้นที่นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมห่างจากกรุงเทพมหานคร รัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร ขนาดกำลังการผลิต 32,000 ล้านมวนต่อปี ภายในกรอบวงเงินลงทุน 16,200.00 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2551 – 2555)

3. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 อนุมัติให้ยกเลิกการก่อสร้างอาคารคลังเก็บใบยาต่างประเทศ (B-05) และอาคารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ (B-19) โดยปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างรวม 247.04 ล้านบาท  ส่งผลให้กรอบวงเงินลงทุนรวมที่อนุมัติไว้เดิม จำนวน 16,200.00 ล้านบาท เป็นวงเงิน 15,952.96 ล้านบาท และขยายกรอบระยะเวลาที่กำหนดแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2555 เป็น ปีงบประมาณ 2562      

4. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 อนุมัติให้ ยสท. ปรับแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานและแนวโน้มปริมาณการจำหน่ายบุหรี่ในอนาคต ภายในกรอบวงเงินที่ได้รับ 15,952.96 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในโครงการด้วย

การดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่

               ยสท. ตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบที่ตั้งโรงงาน รวมถึงการพัฒนาสู่ความยั่งยืน จึงก่อเกิดเป็นการสรรค์สร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ภายใต้แนวคิด “โรงงานในสวน (Factory in the Park)” ที่ให้ความสำคัญทั้งตัวโรงงาน ภูมิสถาปัตยกรรม อาคารประกอบโดยรอบ ให้มีความเรียบง่ายและทันสมัย ประหยัดค่าก่อสร้าง ประหยัดการใช้พลังงาน ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหารตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  อีกทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน มีการปลูกไม้ยืนต้นจำนวนมากล้อมรั้วร่มรื่นรอบโรงงาน เพื่อกรองกลิ่น ฝุ่น เสียง และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

               ยสท. ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 โรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่  มีการออกแบบอาคาร พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 274,000 ตารางเมตร  ประกอบด้วยอาคารและองค์ประกอบหลัก ดังนี้

               B01 อาคารสำนักงาน ประกอบด้วย ส่วนสำนักงาน โรงอาหาร และสนามกีฬาในร่ม  พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 34,000 ตารางเมตร

               B02  อาคารโรงงานหลัก อาคารคลังเก็บบุหรี่สำเร็จรูป และศูนย์จำหน่าย ประกอบด้วย สำนักงานฝ่ายผลิต พื้นที่ผลิตยาเส้น (Primary Process Area)  พื้นที่ผลิตยาเส้นพอง (DIET Plant Area) พื้นที่ผลิตบุหรี่ (Secondary Process Area)  พื้นที่ผลิตและส่งก้นกรอง  และคลังเก็บบุหรี่สำเร็จรูป  พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ  76,000 ตารางเมตร 

               B03  อาคารศูนย์พลังงาน ประกอบด้วยระบบเสริมการผลิต เช่น เครื่องทำน้ำเย็น ผลิตน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ เครื่องกำเนิดไอน้ำ  เครื่องลมอัด  สถานีไฟฟ้าย่อย 115kV  ถังเก็บน้ำประปาและถังเก็บน้ำดับเพลิง  พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 9,500 ตารางเมตร

               B04  อาคารฝ่ายการพิมพ์ / อาคารคลังพัสดุ  ประกอบด้วยพื้นที่การพิมพ์ซึ่งติดตั้งเครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วน (Gravaure) เครื่องพิมพ์แบบป้อนแผ่น (Offset) เครื่องสนับสนุนการพิมพ์ รวมถึงพื้นที่จัดเก็บวัสดุหีบห่อ  พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 3,900 ตารางเมตร

               B06-B07  อาคารคลังเก็บวัตถุดิบประเภทใบยา  สำหรับจัดเก็บใบยาสูบ  พื้นที่ใช้สอยอาคารละ 17,000 ตารางเมตร

               B08  อาคารวิศวกรรมและซ่อมบำรุง พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 14,000 ตารางเมตร

               B09  อาคารคลังเก็บวัตถุอันตรายและวัตถุเสียหาย พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 6,500 ตารางเมตร

               B10  สถานีบริการน้ำมัน 

        โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง มีกำลังการผลิตสูง และบริหารจัดการได้ง่ายด้วยระบบอัตโนมัติทุกกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยสท. ยังได้ขนย้ายเครื่องจักรเดิมของฝ่ายโรงงานผลิตยาสูบ 3, 4, 5 และฝ่ายการพิมพ์ มาติดตั้งใช้งานที่โรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ด้วย เครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่สำหรับกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้

เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตบุหรี่

  • ด้านกระบวนการผลิตยาเส้น
  • ด้านกระบวนการผลิตยาเส้นพอง
  • ด้านกระบวนการมวน
  • ด้านกระบวนการบรรจุ
  • ด้านกระบวนการผลิตก้นกรอง
  • ด้านกระบวนการจัดเก็บและเบิกจ่ายใบยาและหีบบุหรี่อัตโนมัติ

เครื่องจักรด้านการพิมพ์

  • เครื่องจักรแบบป้อนม้วน และอุปกรณ์การพิมพ์
  • เครื่องจักรแบบป้อนแผ่น และอุปกรณ์การพิมพ์

งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการระบบปฏิบัติการผลิต และระบบโลจิสติกส์

  • โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • โครงการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบระบบเครื่องจักรด้านกระบวนการจัดเก็บและเบิกจ่ายอัตโนมัติ
  • โครงการพัฒนาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการจัดการระบบ MES และ Logistics  เพื่อรองรับระบบงานสารสนเทศทั้งหมด

              

โรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “การยาสูบแห่งประเทศไทย พระนครศรีอยุธยา (ยสท. อยุธยา)” เปิดผลิตบุหรี่ซิกาแรตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันมีความสามารถผลิตบุหรี่ ดังนี้

  • ด้านกระบวนการผลิตยาเส้นมีกำลังการผลิต 12,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง 
  • ด้านกระบวนการผลิตยาเส้นพองมีกำลังการผลิต 2,280 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
  • ด้านกระบวนการมวนและบรรจุ มีกำลังการผลิตบุหรี่ 30,000 ล้านมวนต่อปี 

  “การยาสูบแห่งประเทศไทย พระนครศรีอยุธยา” สามารถดำเนินการผลิตบุหรี่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ภายใต้การดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ที่กำกับดูแลควบคุมการผลิตและจำหน่าย เชื่อมโยงกับ การยาสูบแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ คลองเตย กรุงเทพมหานคร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

..เพิ่มเติม..