ใบยาเตอร์กิช เป็นใบยาที่ค่อนข้างแตกต่างจากใบยาอื่นๆ เพราะเป็นใบยาบ่มแดด และเป็นใบยาที่มีกลิ่นหอมกว่าใบยาชนิดอื่น มีความหอมเฉพาะตัวจากแว็กซ์ หรือเรซิ่นที่สะสมอยู่ในใบยา เหมาะมากกับบรรยากาศแบบแห้งแล้ง ดินทรายจัด ไม่อุ้มน้ำ เพราะใบยาจะได้สร้างแว็กซ์ขึ้นมาเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ ยิ่งแว็กซ์มากยิ่งทำให้ใบยาหอมมาก ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นที่ต้องการมาก ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะมีต้นยาสูบมากถึง 3 – 4 หมื่นต้น
ใบยาเตอร์กิช นิยมปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง คือพื้นที่ภาคอีสาน ปลูกมากในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม
โดยใบยาเตอร์กิชนิยมปลูกกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม จะปลูกเป็นแถวเรียงกัน โดยต้องเพาะกล้าประมาณ 40 วันก่อนนำมาปลุกในไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทางโรงงานยาสูบจัดสรรมาให้ตามโควตา ระยะเวลาเติบโตในไร่ 60 วันก่อนเก็บเกี่ยวครั้งแรก หลังจากนั้นจะเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วันจึงหมดต้น
ในการเก็บใบยา เกษตรกรผู้ปลูกแนะนำเราว่าจะใช้วิธีการเก็บแบบเก็บเป็นใบๆ เช่นเดียวกับใบยาเวอร์ยิเนียและเบอร์เล่ย์ โดยเก็บจากใบข้างล่างไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอด
วิธีเด็ดใบยาเตอร์กิชที่ต่างกัน คือเวลาเด็ดใบยาควรใช้นิ้วจับโคนก้านใบยา แล้วบิดออกด้านข้าง เพื่อป้องกันการฉีกขาดบริเวณลำต้น เก็บครั้งหนึ่งประมาณ 3 – 5 ใบต่อต้น เก็บแต่ละครั้งห่างกัน 4 – 7 วัน เก็บเสร็จวางใบยาใส่ตะกร้าเพื่อขนกลับไปเสียบร้อยต่อไป
เมื่อเก็บมาแล้ว ก็จะมีการแยกใบยาตามขนาดและคุณภาพแล้วร้อยที่โคนก้านใบ ร้อยแบบเรียงใบไม่ต้องจับหน้าชนหลัง ชนหลังเหมือนใบยาเวอร์ยิเนียและใบยาเบอร์เล่ย์ ร้อยจนเต็มเชือกแล้ว จึงนำไปผูกกับกรอบไม้ ที่ทางโรงงานยาสูบสนับสนุนและจัดให้เป็นกรอบเฟรมตากใบยาที่ตรงตามคุณภาพ GAP ให้กับชาวไร่ยาสูบ
ในการตากใบยา ต้องตากในร่มประมาณ 2 – 3 วัน เพื่อลดความชื้นก่อนการบ่มแดด ภายหลังจึงนำไปตากแดดรำไร หรือพลางแสงแดดอีก 3 – 5 วัน เพื่อต้องการให้น้ำระเหยออกจากใบยาอย่างช้าๆ จนใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง นำใบยาออกตากแดดเฉพาะกลางวัน ส่วนกลางคืนต้องนำเข้าที่ร่มหรือใช้ผ้าใบคลุมไว้เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำค้าง หลังจากนั้นตากแดดจัดต่ออีก 7 – 10 วัน เรียกว่าระยะทำใบแห้ง เมื่อใบแห้งแล้วแกะเชือกออกจากกรอบไม้นำปลายเชือกแต่ละด้านมาผูกกันคล้ายพวงมาลัย และแขวนผึ่งในร่มอีก 10 – 15 วัน เรียกว่าระยะทำก้านแห้ง เพื่อให้ใบยาอ่อนตัว
ขั้นตอนต่อไปคือ การหมัก โดยจะนำใบยาที่ผ่านการบ่มแดดมากองเพื่อหมักอีก 10 – 15 วัน เพื่อให้คุณภาพสีของใบยาดีขึ้น แล้วนำไปอัดเป็นห่อเพื่อรอจำหน่าย โดยนำใบยาแห้งมาชั่งก่อน โดยไม่ให้เกิน 15 กิโลกรัมต่อ 1 ห่อใบยา ตามที่ทางโรงงานยาสูบกำหนดขนาดรับซื้อไว้ หลังจากชั่งแล้วนำใบยาแห้งที่ยังร้อยเชือกมาเรียงใส่บล็อก อัดแน่นก็เย็บกระสอบป่านที่ด้านแคบทั้ง 3 ด้าน ส่วนอีก 3 ด้านเย็บด้วยเชือกป่านไขว้ไปมาจนแน่น พร้อมที่จะส่งจำหน่ายต่อไป